News & Events

Back

ภาษีอี-เพย์เมนต์ ขูดรีดผู้ประกอบการออนไลน์จริงหรือไม่

13-12-2018 ธุรกิจ ไทยรัฐ

ภาษีอี-เพย์เมนต์ ขูดรีดผู้ประกอบการออนไลน์จริงหรือไม่

          หลังจากมีการร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประมวลรัษฎากร เพื่อรองรับระบบภาษี และเอกสารธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ให้เป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (National e-payment Master Plan) หรือที่เรียกกว่า อี-เพย์เมนต์ ทำให้พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ได้แสดงความคิดเห็นถึงความกังวลดังกล่าวว่าเป็นการขูดรีดคนทำการค้าขายหรือเปล่า?

          หากว่ากันตามกฎหมาย ผู้เสียภาษีที่มีเงินได้พึงประเมินไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคลมีหน้าที่ยื่นภาษีและเสียภาษี ทั้งเงินได้จากการจ้างแรงงาน การรับทำงาน ค่าแห่งกู๊ดวิลล์ ดอกเบี้ย เงินปันผล ให้เช่าทรัพย์สิน วิชาชีพอิสระ การรับเหมา การทำธุรกิจ การพาณิชย์ การเกษตร อุตสาหกรรม และอื่น ๆ ดังนั้นกฎหมายอี-เพย์เมนต์ ดังกล่าวไม่ได้ออกมา เพื่อขูดรีดผู้ขายของออนไลน์

          ตามที่กรมสรรพากร ออกมายืนยันว่า วัตถุประสงค์ของกฎหมายนี้ ไม่ได้มีเจตนาเรียกเก็บภาษีจากผู้ขายสินค้าออนไลน์โดยตรง เพราะผู้มีเงินได้ หรือร้านค้าทุกร้านที่มีรายได้มีหน้าที่ต้องเสียภาษีอยู่แล้ว หากมีรายได้หลังจากหักลดหย่อนแล้วอยู่ในเกณฑ์ที่กรมสรรพากรกำหนด อีกทั้งกฎหมายดังกล่าวเป็นเพียงการร่างที่ได้รับความเห็นชอบจาก สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เท่านั้น ยังไม่การประกาศใช้ทันที โดยคาดว่ากฎหมายจะเสร็จสมบูรณ์พร้อมมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2563 ส่งผลให้ยื่นภาษีจริงในปี พ.ศ. 2564 ช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม

          โดยในกฎหมาย กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์เป็นผู้รายงานธุรกรรมทางการเงินต่อกรมสรรพากร หากบุคคลใดมีรายการรายรับเกิน 400 ครั้ง/ปี และมีมูลค่าเกิน 2 ล้านบาท หรือรวมทุกบัญชีมีรายการรายรับเกิน 3,000 ครั้ง ทางธนาคารจะรายงานให้กรมสรรพากรรับทราบ

          ส่วนการเสียภาษี หากเป็นผู้มีรายได้ที่ไม่ใช่ค่าจ้างเงินเดือน แต่เป็นรายได้ที่อยู่ในมาตรา 40 (2-8) จะเสียภาษีได้ 2 รูปแบบด้วยกัน คือ  

  1. แบบเหมาจ่าย อัตราภาษีอยู่ 0.5% ของรายได้ ตัวอย่างเช่นมีรายได้ 10,000 บาท ต้องเสียภาษี 50 บาท
  2. เสียภาษีแบบอัตราก้าวหน้า หรือตามขั้นบันได อัตราภาษีจะเริ่มตั้งแต่ 5% ไปจนถึง 35%

          ซึ่งผู้มีเงินได้จะต้องนำเงินได้ทั้งหมด มาหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนก่อน หลังจากนั้นกรมสรรพากร จะประเมินว่าแบบไหนที่เสียภาษีมากกว่ากันก็จะเรียกเก็บอันนั้น

          ดังนั้นเหตุผลที่แท้จริงของกฎหมายฉบับนี้จึงไม่ได้ออกมาเพื่อขูดรีดคนขายของออนไลน์หรือผู้ประกอบการรายย่อย แต่เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับธุรกิจอื่น ๆ และเพื่อปิดช่องโหว่ของผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีรายได้หลายล้านบาท แต่ไม่เคยเสียภาษีเลย ให้มาเสียภาษีอย่างถูกต้อง

         

         

           

บอกต่อ : 
ข่าวที่แนะนำ

Back