News & Events

Back

ราชบัณฑิตยสภา เผยแพร่คำศัพท์คอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ

15-08-2019 First Section / สังคม -

ราชบัณฑิตยสภา เผยแพร่คำศัพท์คอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ

      ทุกคนต่างทราบกันดีว่า คำศัพท์ภาษาอังกฤษในบางคำอาจอ่านทับศัพท์ และหลาย ๆ คำจะอ่านและถูกเขียนเป็นภาษาไทย เพื่อให้เกิดความเข้าใจและการสื่อสารที่ง่ายขึ้น ดังนั้นสำนักราชบัณฑิตยสภา จึงเป็นผู้บัญญัติเกี่ยวกับการใช้ภาษาไทยและเผยแพร่คำศัพท์ใหม่ ๆ 

      โดยคราวนี้เป็นการเผยแพร่คำศัพท์คอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศใหม่ ๆ หลายคำด้วยกัน ซึ่งคำส่วนใหญ่เป็นคำเราคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี เพราะเทคโนโลยีบางสิ่งได้เข้ามามีส่วนร่วมในชีวิตประจำวันของเรามากขึ้น มาดูกันว่าคำศัพท์ที่ทางราชบัณฑิตยสภาเผยแพร่ออกมานั้นมีคำไหนบ้าง จะได้นำไปใช้อย่างถูกต้อง

 

AI หรือ Artificial Intelligence

      ในภาษาไทยเขียนว่า “ปัญญาประดิษฐ์ หรือเอไอ” ซึ่งเป็นคำที่เราทุกคนคุ้นเคยกันดี ชีวิตประจำวันของเราทุกวันนี้มีเอไอเข้ามาช่วยทำให้หลาย ๆ อย่างง่ายขึ้น 

      Artificial Intelligence หรือปัญญาประดิษฐ์ เป็นสาขาหนึ่งของวิทยาการคอมพิวเตอร์ ซึ่งเน้นเรื่องที่จะทำให้คอมพิวเตอร์ทำงานได้ใกล้เคียงมนุษย์มากขึ้น แบ่งย่อยออกเป็นสาขาต่าง ๆ เช่น การแปลภาษาด้วยเครื่อง , ระบบผู้เชี่ยวชาญ , วิทยาการหุ่นยนต์ , การรู้จำแบบ , การรับรู้เยี่ยงมนุษย์ (human perception) และอื่น ๆ 

 

AR หรือ Augmented Reality

      มี AI แล้วจะไม่มี AR ได้อย่างไร ในภาษาไทยเขียนว่า “ความเป็นจริงเสริม หรือเออาร์” ที่ก่อนหน้าเราอาจจะคุ้นเคยกันในชื่อว่าความเป็นจริงเสมือน เพราะเป็นเทคโนโลยีที่จำลองสภาพแวดล้อมจริงเข้าไปให้เสมือนจริง ผ่านภาพ , เสียง , วิดีโอและข้อมูลต่าง ๆ 

      Augmented Reality หรือความเป็นจริงเสริม เป็นสภาวะจริงที่แต่งเติมขึ้นด้วยเทคโนโลยี เช่น ผู้ใช้กำลังดูรถยนต์อยู่และต้องการทราบข้อมูลเกี่ยวกับรถยนต์ ก็อาจจะใช้แว่นตาชนิดพิเศษซึ่งสามารถแสดงข้อมูลรถยนต์ซ้อนลงบนภาพรถยนต์ที่กำลังมองอยู่ได้

 

Avatar หรืออวทาร์

      Avatar หรือที่เราชอบเรียกกันผิดว่า “อวตาร์” ในศัพท์ทางคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีคือรูปแทนตัวผู้ใช้ในโลกเสมือนหรือเกม ซึ่งอาจเป็นสองมิติหรือสามมิติก็ได้

 

Big Data

      Big Data (บิ๊ก ดาต้า) หรือข้อมูลขนาดใหญ่ เป็นการแปลเป็นภาษาไทยที่ตรงตัวมาก ๆ เข้าใจได้ง่ายที่สุด ข้อมูลขนาดใหญ่เกิดขึ้นจากในปัจจุบันบนอินเทอร์เน็ตมีข้อมูลอยู่มากมาย โดยข้อมูลเหล่านี้สามารถนำมาประมวลวิเคราะห์ข้อมูลแล้วนำไปใช้ประโยชน์ต่อได้

      Big Data เป็นชื่อเรียกข้อมูลหลากหลายที่มีปริมาณมหาศาล เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เช่น ข้อมูลดัชนีการค้นคืนของเว็บ ข้อมูลการสื่อสารทางโทรศัพท์เคลื่อนที่ ข้อมูลในเครือข่ายสังคม ข้อมูลการพยากรณ์อากาศ ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียม ฯลฯ

 

Bitcoin 

      Bitcoin หรือบิตคอยน์หลายคนต้องเคยได้ยินคำนี้แน่นอน เพราะเป็นหนึ่งในสกุลเงินดิจิทัล ที่ถูกสร้างขึ้นด้วยภาษาคอมพิวเตอร์ไม่มีใครเป็นเจ้าของ และเป็นชื่อสกุลเงินอิเล็กทรอนิกส์ประเภทหนึ่งซึ่งใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน

Blockchain

      Blockchain หรือบล็อกเชน เป็นวิธีการเก็บข้อมูลรายการเปลี่ยนแปลงตามหลักการทางบัญชี โดยการเข้ารหัสและจัดเรียงข้อมูลเหล่านี้ต่อกันตามลำดับเวลาที่ข้อมูลเข้ามา กลุ่มข้อมูลดังกล่าวจะเผยแพร่ไปให้ผู้ใช้ในเครือข่ายที่กำหนดได้ทราบทั่วกัน ทั้งนี้ ผู้ใช้ทุกคนจะทราบการแก้ไขเพิ่มเติมรายการเปลี่ยนแปลงในบล็อกเชนทุกรายการตลอดเวลา

 

Cryptocurrency

      คริปโทเคอร์เรนซี ในภาษาไทยเรียกว่า “เงินตราเข้ารหัสลับ” คือสินทรัพย์ดิจิทัลที่เป็นสื่อกลางในการทำธุรกรรม ซึ่งใช้วิทยาการเข้ารหัสลับสำหรับรับประกันความถูกต้องของธุรกรรมนั้น เพื่อควบคุมการสร้างหน่วยเงินดิจิทัลเพิ่ม และเพื่อยืนยันความถูกต้องของการโอนสินทรัพย์ เป็นเงินดิจิทัลรูปแบบหนึ่งที่ควบคุมโดยกระจายศูนย์กลางผ่านบล็อกเชน

 

Cyber Bully

     เชื่อว่าเกือบทุกคนต้องเคยเห็นไซเบอร์บูลลี่แน่นอน โดยเฉพาะคนที่เล่นโซเชียลมีเดียทุกวัน จะต้องติดตามกระแสในแต่ละวันและในบางครั้งอาจเข้าไปเกี่ยวข้องกับไซเบอร์บูลลี่ หรือการระรานทางไซเบอร์โดยไม่รู้ตัวแน่นอน

     Cyber Bully หรือการกลั่นแกล้ง การให้ร้าย การด่าว่า การข่มเหง หรือการรังแกผู้อื่นทางสื่อสังคมต่าง ๆ เช่น เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์

 

Cybersecurity

      ไซเบอร์ซีเคียวริตี้ หรือความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ เป็นภาวะที่เครือข่าย ระบบคอมพิวเตอร์ โปรแกรม และข้อมูล พ้นจากภัยคุกคาม มีลักษณะสำคัญ ๓ ประการ คือ คงความลับ คงความถูกต้องครบถ้วน และคงความพร้อมใช้งาน ภาวะดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยบุคลากร กระบวนการทำงาน และเครื่องมือ ที่เหมาะสม

 

Cybercrime / Cyber Crime / Cyber-Crime / Computer Crime

      ตามราชบัณฑิตยสภาได้เผยแพร่คือ อาชญากรรมไซเบอร์, อาชญากรรมคอมพิวเตอร์ ซึ่งเกี่ยวข้องกับ

  • การกระทำผิดกฎหมายโดยใช้คอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เป็นเครื่องมือ เช่น ทำลาย เปลี่ยนแปลง หรือขโมยข้อมูล

  • การทำให้การทำงานของระบบคอมพิวเตอร์หรือระบบเครือข่าย ถูกระงับ ชะลอ ขัดขวาง หรือรบกวนจนไม่สามารถทํางานตามปรกติได้

 

Data Analytics

      ดาต้า อนาไลติกส์ หรือวิทยาการวิเคราะห์ข้อมูล เป็นศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการวิเคราะห์ข้อมูล โดยนำข้อมูลมาประมวลผลด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น การจำแนกกลุ่ม การดำเนินการทางสถิติ การวิเคราะห์แนวโน้ม การค้นหาความสัมพันธ์ระหว่างลักษณะประจำของข้อมูล ซึ่งอาจจะไม่ปรากฏชัดเจนนัก

Data Science

      ดาต้า ไซแอนหรือวิทยาการข้อมูล เป็นสหวิทยาการซึ่งประกอบด้วยวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณิตศาสตร์ สถิติ และสาขาที่เกี่ยวข้อง ซึ่งใช้ในการวิเคราะห์และทำความเข้าใจข้อมูลเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป

บอกต่อ : 
ข่าวที่แนะนำ

Back